
พลิกภัยพิบัติเพื่อนำพาโชคดี! อนาคตของท้องถิ่นที่เชื่อมโยงด้วย "ศิลปะ Wara Art (ศิลปะจากฟาง)”
วัตถุขนาดใหญ่ที่ทำจากฟางข้าวนี้จะปรากฏขึ้นในสวนอุวาเซกิงาตะ
(Uwasekigata Park) ในเขตนิชิกัน
เมืองนีงาตะในช่วงสิ้นฤดูร้อนของทุกปี และนี่เป็นผลงาน "ศิลปะ Wara
Art"
ที่เกิดขึ้นในฐานะโครงการที่ร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปะมุซาชิโนะ
(Musashino Art University) ในโตเกียว (จากนี้เรียกว่า มุซาบิ)
กับท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2008 ก็ได้มีการจัด “เทศกาล Wara Art”
ที่เมืองนีงาตะเป็นผู้จัดงานและเน้นเกี่ยวกับศิลปะ Wara Art
เป็นหลักขึ้นทุกปี
รวมทั้งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงในท้องถิ่น
อย่างไรก็ตามในปี 2020
เมื่อมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
(COVID-19) เทศกาล Wara Art จึงได้ถูกยกเลิกไปเป็นครั้งแรก
แม้จะก้าวเข้าสู่ปีใหม่แล้ว
แต่ผลกระทบเหล่านั้นก็ยังยืดเยื้อออกไปไม่ว่าจะเป็นการจำกัดพฤติกรรมอันเนื่องมาจากการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสและการเกิดสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ขึ้น
ในปีนี้นักศึกษาจากมุซาบิก็ไม่สามารถมาได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามเราอยากจะจัดเทศกาล Wara Art ด้วยความคิดดังกล่าว
เทศกาล Wara Art จึงได้ถูกจัดขึ้นในปี 2021
โดยมีการค้นหารูปแบบใหม่ๆ หัวข้อคือ
"ของนำโชคที่มอบชีวิตชีวาให้แก่ผู้ที่พบเห็น"
ซึ่งเราจะขอรายงานถึงเบื้องหลังของเทศกาล Wara Art
ซึ่งจัดขึ้นโดยการเอาชนะภัยพิบัติ
คิดถึงนีงาตะจากสถานที่ที่ห่างไกล นักศึกษาจากมุซาบิจะเป็นผู้กำหนดธีมและออกแบบ

สวนอุวาเซกิงาตะซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเทศกาล Wara Art
จุดเริ่มต้นของศิลปะ Wara Art คือการปฏิสัมพันธ์ระหว่างอดีตหมู่บ้านอิวามุโระซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นแหล่งออนเซ็น กับศาสตราจารย์ชินโงะ มิยาจิมะจากมุซาบิ จากการปรึกษาหารือกันว่า เราจะใช้ฟางข้าวจากนีงาตะที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวชั้นนำของญี่ปุ่นมาทำอะไรได้บ้าง? จึงได้เกิดเป็นศิลปะ Wara Art ที่ว่า "เรามาร่วมกันทำให้ผู้คนคิดเชื่อมโยงกันอย่างเช่น ถ้าเป็นเทศกาลหิมะก็ต้องนึกถึงซัปโปโร ส่วนเทศกาลฟางก็ต้องนึกถึงนีงาตะ" เดิมทีถือเป็น "กิจกรรมนอกหลักสูตร" ในห้องค้นคว้าวิจัย แต่เมื่อผ่านไปหลายปีความตระหนักเกี่ยวกับศิลปะ Wara Art ก็เพิ่มขึ้นและจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการก็เพิ่มขึ้นด้วย และเนื่องจากมีการเติบโตขึ้นเป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น มีการประสานงานร่วมกับชุมชน มีการออกแบบ และการใช้ชีวิตอยู่ในนีงาตะเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน จึงทำให้ตั้งแต่ปี 2016 ได้รวมตัวกันเป็นโครงการร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และสถาบันการศึกษา และตั้งแต่ปี 2019 ศาสตราจารย์ชุนซาบุโร นากาฮาระได้เข้ามารับผิดชอบคาบเรียนแทนศาสตราจารย์มิยาจิมะที่ลาออกไปแล้ว แต่ในปี 2020-2021 คาบเรียนถูกยกเลิกเนื่องจากไม่สามารถอยู่ในนีงาตะเพื่อทำกิจกรรมด้านการสร้างผลงานได้

จากด้านซ้ายของภาพ ริวตะ ทาคาฮาชิ (นักศึกษาปี 1 ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์), ยูกะ ทานาเบะ (นักศึกษาปี 1 ภาควิชาการออกแบบบริเวณว่าง การแสดง และแฟชั่น), ซุมิเระ เนโมโตะ (นักศึกษาปี 2 ภาควิชาการออกแบบพื้นฐาน) และฟุมิฮิโระ เซโนะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่เป็นผู้คอยให้คำปรึกษา (ห้องค้นคว้าวิจัย ภาควิชาการออกแบบพื้นฐาน)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซโนะกล่าวว่า "ทางเมืองนีงาตะได้ปรึกษาว่าปีนี้อยากจะสร้างศิลปะ Wara Art อะไรสักอย่าง และทางมหาวิทยาลัยก็ได้พิจารณาด้านต่างๆ ว่าเราจะสามารถให้ความร่วมมือด้วยวิธีไหนได้บ้าง" จากผลการพิจารณานั้น เราตัดสินใจรับสมัครนักศึกษาอาสาสมัคร ที่ไม่ใช่จากในคาบเรียน และให้ดำเนินการเฉพาะกำหนดหัวข้อและออกแบบโดยไม่ต้องไปยังพื้นที่จริง “ทุกๆ ปีโครงการนี้จะดำเนินการโดยนักศึกษา 40 คน แต่ท่ามกลางสภาพการณ์โลกในตอนนี้ เรากังวลว่านักศึกษาจะมารวมตัวกันหรือไม่ จนในที่สุดนักศึกษา 10 คนก็เข้าร่วมและเราตัดสินใจสร้างศิลปะ Wara Art ทั้งหมด 3 ชิ้น" (ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซโนะกล่าว)

ภาพดีไซน์ของผลงานศิลปะ Wara Art
หัวข้อที่เหล่านักศึกษาที่เข้าร่วมได้พูดคุยและคิดขึ้นคือ "ของนำโชคที่มอบชีวิตชีวาให้แก่ผู้ที่พบเห็น" “มีสถานการณ์ที่ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นรู้สึกมืดมนเพราะวิกฤตโคโรนา และท่ามกลางสถานการณ์นี้เองถ้าเราสามารถจัดเทศกาลแบบนี้ได้ สิ่งที่สดใสก็เป็นตัวเลือกที่ดี ดังนั้นเราจึงเสนอไอเดียเกี่ยวกับของนำโชคที่หลากหลายค่ะ” (คุณเนโมโตะกล่าว)

นกฟีนิกซ์ที่นำความสงบสุขมาสู่ผู้คน
คุณทาคาฮาชิผู้เข้าร่วมทีมสร้างนกฟีนิกซ์กล่าวว่า “ผมอยากเข้าร่วมในโครงการที่ร่วมมือกับภาควิชาอื่นๆ ครับ อีกทั้งผมยังอยากใช้วัสดุที่ไม่คุ้นเคยอย่างฟางข้าวด้วยครับ" ดูเหมือนว่าในขั้นตอนการออกแบบ เขาได้สร้างแบบจำลองโดยได้ไอเดียมาจากความรู้สึกที่ได้กางปีกและบินขึ้นไป แต่ผลงานจริงดูแตกต่างออกไปเล็กน้อย “ผมว่าพอดูผลงานที่เสร็จแล้ว ของจริงดูน่าตื่นตาตื่นใจอย่างที่คิดไว้เลยครับ มันไม่ได้เป็นไปตามภาพดีไซน์ แต่ผู้คนในท้องถิ่นปรับเปลี่ยนและให้การตีความที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผมจึงดีใจที่มันลุล่วงไปได้ด้วยดีอย่างมากครับ" (คุณทาคาฮาชิกล่าว)

ตุ๊กตาดารุมะทรงสามเหลี่ยมที่เรารู้จักกันว่าเป็นงานฝีมือพื้นบ้านของนีงาตะที่มีลักษณะเฉพาะด้วยรูปทรงที่ไม่เหมือนใครและการแสดงออกที่ตลกขบขัน
คุณทานาเบะซึ่งเดิมทีหลงใหลในโครงการนอกหลักสูตรของมุซาบิอยู่แล้วนี้ได้รู้เกี่ยวกับโครงการศิลปะ Wara Art ทางอีเมลในมหาวิทยาลัยและสมัครเข้ามา “ทีมของเราตัดสินใจสร้างตุ๊กตาดารุมะ ซึ่งในตอนแรกวางแผนไว้ให้เป็นตุ๊กตาดารุมะธรรมดาค่ะ แต่สมาชิกคนหนึ่งบอกว่า "ดูเหมือนตุ๊กตาดารุมะในนีงาตะจะแตกต่างออกไปเล็กน้อยนะ" เราจึงตัดสินใจสร้างตุ๊กตาดารุมะทรงสามเหลี่ยมที่ผู้คนในนีงาตะคุ้นเคยกันดีค่ะ ฉันคิดไปว่า ควรมีตุ๊กตาดารุมะที่มีใบหน้าตลกๆ ในนีงาตะด้วยนะ (หัวเราะ)" (คุณทานาเบะกล่าว)

ภูติอามาบิเอะที่เล่ากันว่าช่วยในการขจัดโรคระบาด
คุณเนโมโตะที่เข้าร่วมในงานศิลปะ Wara Art
และอยู่ในทีมอามาบิเอะกล่าวว่า
"พวกเราคิดภาพดีไซน์กันตั้งแต่เริ่มต้น
และได้สร้างสรรค์เป็นผลงานสามมิติขนาดใหญ่ด้วยจึงน่าสนุกดีค่ะ"
“ฉันออกแบบอามาบิเอะให้คล้ายกับตัวการ์ตูนแต่ก็กังวลใจว่าจะสามารถแสดงออกได้มากน้อยแค่ไหนเมื่อทำด้วยฟางข้าวน่ะค่ะ
พอมองดูผลงานที่เสร็จแล้วก็ดีใจมากเลยค่ะ
ที่สามารถสร้างอามาบิเอะที่ให้ความรู้สึกน่ารักและเป็นตัวการ์ตูนได้อย่างดีเลยค่ะ”
(คุณเนโมโตะกล่าว)
“ปีนี้เราไม่สามารถไปที่สถานที่จริงได้
แต่ผมรู้สึกขอบคุณมากที่มีผู้คนมาดูผลงานจริงๆ
และยังถูกนำเสนอในข่าวด้วยครับ
ผมไม่สามารถพบปะและพูดคุยกับผู้คนในนีงาตะได้จริงๆ
แต่มันก็เป็นประสบการณ์อันยอดเยี่ยมที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างกันผ่านฟางข้าวได้นะครับ”
ทาคาฮาชิกล่าว และทั้ง 3 คนเล่าว่าพวกเขาอยากไปที่สถานที่จริง

การสร้างผลงานจะไม่สามารถเสร็จสมบูรณ์ได้ถ้าเราทำงานแต่ในห้องค้นคว้าวิจัย แต่เป็นการที่เราทำงานโดยร่วมมือกับผู้คนหลากหลายและสื่อสารกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ "ผมคิดว่าโครงการศิลปะ Wara Art เป็นคาบเรียนที่นักศึกษาจะได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับทุกสิ่งของการผลิตผลงานได้มากขึ้นครับ ปีนี้ไม่สามารถไปที่สถานที่จริงได้ แต่ต่อจากนี้ไปผมคิดว่าเราจะไม่เพียงแค่สั่งงานตามแบบภาพเท่านั้น แต่เราจะไปเก็บฟางข้าว ถักฟาง จัดการภายในสวน จากนั้นก็กระชับความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับผู้คนที่ทำงาน เช่น ทำนา ในพื้นที่ให้แน่นแฟ้นขึ้นได้ก็คงจะดีมากครับ" (ผู้ช่วยศาสตราจารย์เซโนะกล่าว)
การสร้างผลงานจะดำเนินการโดยผู้สนับสนุนการสร้างผลงานในท้องถิ่น

ร้านป้ายอุจิยามะ คุณเซจิโร อุจิยามะ (อายุ 82 ปี) "การที่ได้เข้าไปหาลูกค้าและฟังปฏิกิริยาที่มีต่อผลงานนั้นเป็นเรื่องที่ผมตั้งตารอในทุกปีเลยครับ"
คุณเซจิโร อุจิยามะ
ผู้ทำธุรกิจผลิตป้ายในท้องถิ่นและได้ให้การสนับสนุนอย่างมากในการสร้างงานศิลปะ
Wara Art ในเขตนิชิกัน เมืองนีงาตะแห่งนี้ ในช่วงเทศกาล Wara Art
ครั้งที่ 2 (ปี 2009)
ทางศาลากลางจังหวัดขอให้เขาให้ความร่วมมือและรับผิดชอบในการสร้างโครงของศิลปะ
Wara Art
หลังจากนั้นทุกปีโครงก็ได้ถูกประกอบขึ้นจากไม้ในขณะที่คิดและดัดแปลงเรื่องน้ำหนักและความสมดุลตามการออกแบบที่นักศึกษาคิดขึ้น
ทุกปี
เหล่านักศึกษาจะติดฟางโดยอิงจากโครงเพื่อสร้างเป็นผลงานจนเสร็จสิ้น
แต่ในปีนี้ชาวบ้านในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างผลงานภายใต้การกำกับดูแลของคุณอุจิยามะ

จากซ้ายมือที่เป็นผู้สนับสนุนการสร้างผลงาน คุณซาระ โคบายาชิ ชั้นประถมปีที่ 6, คุณฮานาเอะ โคบายาชิ ชั้นประถมปีที่ 6, คุณอุจิยามะ, คุณคานาเอะ โคบายาชิ ชั้นประถมปีที่ 2, คุณคานน ทาเคชิตะ นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 2
คุณอุจิยามะกล่าวว่า
"ผมกังวลเรื่องการมารวมตัวของอาสาสมัครฝ่ายสร้างผลงานครับ"
ผู้รับผิดชอบในเมืองนีงาตะได้ร้องขอผู้คนที่อาศัยในท้องถิ่นและโรงเรียนในพื้นที่เพื่อรวบรวมผู้สนับสนุนการสร้างผลงาน
แต่เป็นการยากที่จะรวมตัวผู้คนเนื่องจากวิกฤตโคโรนา
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนที่อาศัยในท้องถิ่นได้ใช้เวลาราว 3
สัปดาห์ในการสร้างโดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ทรัพยากรผู้สูงอายุที่มารวมตัวกันนี้
“คนสูงอายุในท้องถิ่นและเป็นทรัพยากรผู้สูงอายุที่มาช่วยนี้จัดการฟางข้าวได้เก่งกว่านักศึกษาอีกครับ
(หัวเราะ) จนทำให้เสร็จเร็วกว่าที่วางแผนไว้ครับ”
(คุณอุจิยามะกล่าว)

อาสาสมัครที่เป็นนักเรียนประถมกำลังชี้ไปยังจุดที่พวกเขาสร้างผลงาน
คุณซาระ โคบายาชิที่เข้าเรียนในโรงเรียนประถมศึกษามากิมินามิในพื้นที่ และคุณฮานาเอะ โคบายาชิที่เป็นเพื่อนร่วมชั้นได้เห็นใบปลิวที่โรงเรียนและรับทราบเกี่ยวกับผู้สนับสนุนการสร้างศิลปะ Wara Art พวกเธอร่วมสมัครมากับเพื่อน 4 คน และทำของตกแต่งหน้าอกและหางของนกฟีนิกซ์ จากนั้นก็ได้ลองทำมัดฟางข้าวที่กลายมาเป็นใบหน้าของตุ๊กตาดารุมะทรงสามเหลี่ยม และคุณคานาเอะ น้องสาวของคุณฮานาเอะเองก็รีบไปให้กำลังใจทุกครั้งเช่นกัน

เหล่าคุณโคบายาชิได้เข้าร่วมในการสร้างผลงานร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น 4 คน
ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสฟางข้าวก็คือการเก็บเกี่ยวข้าวในนาข้าวของโรงเรียน เด็กๆ เล่าว่า "คุณอุจิยามะทำแล้วดูเหมือนง่าย แต่การมัดฟางเป็นเรื่องยากมากเพราะเราไม่สามารถจัดเรียงฟางข้าวให้สวยได้สักทีค่ะ หนูจึงดีใจที่สิ่งที่หนูทำขึ้นถูกนำไปใช้งานค่ะ" และบอกว่าตั้งใจจะเข้าร่วมอีกครั้งในปีหน้าถ้ามีการรับอาสาสมัครอีก

คุณทาเคชิตะที่กำลังถามคุณอุจิยามะเกี่ยวกับวิธีการบำรุงรักษา
คุณทาเคชิตะที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนีงาตะ
เธอมาจากจังหวัดชิซูโอกะ เธอรู้ถึงการมีอยู่ของศิลปะ Wara Art
ตั้งแต่มาที่นีงาตะ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเห็นมันจริงๆ
“ฟางข้าวแข็งกว่าที่ฉันคิดไว้ค่ะ
ฉันแปลกใจกับภาพเหตุการณ์ที่มือถูกบาด
และก็ยังคงทำงานทั้งที่มือเลือดออกอยู่ค่ะ"
อีกทั้งในสถานการณ์ที่ยากจะพบปะพูดคุยกันเนื่องจากวิกฤตโคโรนา
และได้ปฏิสัมพันธ์กันเพียงแค่ผ่านภาพดีไซน์
แต่ดูเหมือนว่าเธอจะพึงพอใจที่ได้แลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ
ด้วย "ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป
คงจะดีมากค่ะถ้าเราสามารถพบปะกับนักศึกษาจากมุซาบิ
นักเรียนมัธยมปลาย และนักเรียนมัธยมต้นในท้องถิ่นได้โดยตรง"
(คุณทาเคชิตะกล่าว)

ปัจจุบันผู้ที่สนับสนุนการสร้างผลงานก็คือคุณอุจิยามะ น้องชายและลูกชายรวมเป็น 3 คน คุณอุจิยามะยังคาดหวังถึงการเติบโตของผู้สนับสนุนการสร้างผลงานด้วยว่า "ถ้าจำนวนผู้สนับสนุนการสร้างผลงานในท้องถิ่นที่เข้าใจและสอนวิธีการใช้ฟางข้าวได้อย่างดีเพิ่มขึ้น เราก็จะสามารถรับอาสาสมัครที่หลากหลายได้ครับ"

หงส์มายังบึงของสวนอุวาเซกิงาตะ (ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม)

เราสามารถเพลิดเพลินกับดอกไม้ได้ทั้งสี่ฤดู (ถ่ายเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม)
นอกจากนี้ ดูเหมือนว่าคุณทาเคชิตะจะมาที่สวนอุวาเซกิงาตะเป็นครั้งแรกเนื่องจากงานอาสาสมัครครั้งนี้ "ฉันรู้สึกประหลาดใจที่ทำเลตรงนี้ดีมากค่ะ มี "บึง" ขนาดใหญ่และทางเดินเล่นก็มีดอกไม้ในแต่ละฤดูกาล เหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้เวลาสบายๆ ในพื้นที่กว้างขวางอย่างเครื่องเล่นขนาดใหญ่ที่เด็กๆ ก็มาเล่นสนุกได้ค่ะ"
ปลายทางที่มุ่งหน้าไปของศิลปะ Wara Art ต่อจากนี้


ผู้คนที่เดินเล่นในสวนเพื่อตระเวนชม 3 สิ่งของนำโชค และมีการโพสต์เรื่องนี้มากมายบนโซเชียลมีเดียเช่นกัน

การออกร้านของ "ตลาดนิชิกัน" ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ในช่วงที่จัดงานเทศกาล
การจัดเทศกาล Wara Art ครั้งแรกในรอบ 2
ปีได้ผ่านพ้นไปด้วยดีโดยการช่วยเหลือของนักศึกษาจากมุซาบิ
คุณอุจิยามะ และอาสาสมัครผู้สร้างผลงานจำนวนมาก
ผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันที่สวนอุวาเซกิงาตะในช่วงจัดงานราว 2
เดือนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม
2021
เทศกาล Wara Art ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปท่ามกลางภัยพิบัติ
แต่ความพยายามครั้งใหม่นี้ทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นไปได้ที่จะ
"เปิด" โครงการที่กลายเป็นมาตรฐานมานานกว่า 10
ปีและนำไปสู่สิ่งที่ผู้คนมากมายสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
จากนี้ไปศิลปะ Wara Art
จะไม่เพียงแค่เชื่อมโยงเมืองนีงาตะและมุซาบิเท่านั้น
แต่ยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงผู้คนได้มากขึ้นและนำพาวัฒนธรรมไปสู่อนาคตด้วย
"มองย้อนกลับไปยังเทศกาล Wara Art ปี 2021"
(แผนกอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเขตนิชิกัน : เคจิมะ)
มีการตัดสินใจว่าจะจัดเทศกาล Wara Art
ในขณะที่นักศึกษาจากมุซาบิไม่สามารถมาที่จังหวัดได้
และก็เกิดความกังวลอย่างมากว่าผู้สนับสนุนการสร้างผลงานจะมารวมตัวเพื่อสร้างผลงานให้เสร็จสิ้นได้หรือไม่
เพื่อเป็นการรวบรวมผู้สนับสนุนการสร้างผลงานในท้องถิ่น
เราจึงได้สอบถามไปยังสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่ เช่น
โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเกษตร
แม้ว่าจำนวนคนจะน้อย
แต่ผู้คนจากชมรมศิลปะของโรงเรียนมัธยมปลายมากิและนักศึกษามหาวิทยาลัย
ฯลฯ ก็มาช่วยเหลือด้วย และเราก็สามารถสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ
กับผู้คนที่ไม่เคยทำงานเกี่ยวข้องกับศิลปะ Wara Art มาก่อน
ตอนนี้ "ศิลปะ Wara Art” ซึ่งถือกำเนิดในเขตนิชิกัน
เมืองนีงาตะนี้ไม่เพียงแต่ขยายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึงต่างประเทศด้วย ในฐานะแหล่งกำเนิดดังกล่าว
เราคิดว่าคงจะดีถ้าจะทำให้เป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายมีส่วนร่วมได้มากขึ้น
เรามีโอกาสได้สร้างการเชื่อมโยงกับผู้สนับสนุนการสร้างผลงานทั้งที
ดังนั้นจึงอยากขยายเรื่องเหล่านี้ออกไป
และเรารู้สึกยินดีถ้าผู้คนได้มีส่วนร่วมในงานต่างๆ เช่น
เก็บฟางข้าว ถักฝางที่ไม่ใช่แค่ในตอนที่สร้างผลงานศิลปะเท่านั้น
อีกทั้งในปีนี้
เราก็ได้สอบถามขอฟางข้าวจากนาข้าวของโรงเรียนประถมศึกษาในเขตนิชิกันด้วย
และคิดว่าถ้าผลพลอยได้จากข้าวที่ปลูกโดยเด็กๆ
สามารถนำไปใช้ในผลงานศิลปะ Wara Art ได้
พวกเขาก็จะเกิดความคุ้นเคยได้มากขึ้นเช่นกัน